พระพุทธองค์ทรงเปรียบคน ดังบัวสี่เหล่า



พระพุทธองค์ ทรงเปรียบคน บนโลกนี้ 

เหมือนบัวสี่ เหล่าแจ้ง แถลงไข 
หนึ่งพวกบาน เหนือน้ำ เลิศล้ำใจ 
ท่านเปรียบใด้ ดังคนที่ มีปัญญา 

จะสอนชี้ สิ่งใด เข้าใจแจ้ง 
ไม่ต้องแจง เหตุผล ค้นปัญหา 
สามารถเข้า ใจซึ้ง ถึงปัญญา 
ไม่ต้องมา สอนลาก ให้มากกล 

เหล่าที่สอง มองเปรียบ ให้เทียบย้อน 
เป็นบัวซ้อน พร้อมจะบาน ไม่นานผล 
อยู่ปริ่มน้ำ คอยคำสอน สะท้อนตน 
เปรียบดั่งคน พร้อมเข้าใจ ในถ้อยธรรม 

ไม่ต้องย้ำ สอนมากมาย พอหมายรู้ 
ต้องมีครู คอยชุบ อุปถัมภ์ 
แนะแนวเหตุ แนวผล และกลกรรม 
ก็รู้จำ รู้จด เป็นบทเรียน 


เหล่าที่สาม ต่ำมาหน่อย ด้อยสติ 
ท่านดำริ เปรียบคน ที่ค้นเขียน 
ต้องอาศัย แรงลาก ให้พากเพียร 
ต้องหมั่นเรียน หมั่นสอน สะทอ้นใจ 


ต้องสอนย้ำ นำพา ปัญญาสู่ 
ถึงจะรู้ ความแจ้ง แถลงไข 
ต้องกระหนาบ เกลาขัด ฝึกหัดไป 
จึงจะใด้ ปัญญา เข้ามาทอน 


ส่วนเหล่าสี่ ที่สุด มนุษย์แล้ว 
ไม่เอาแนว ใดย้ำ ในคำสอน 
ไม่สามารถ เรียนจด ในบทตอน 
คือพวกนอน เกลือกตม เกินชมใจ 


รั้งแต่เน่า ทับถม สุดชมหา 
ให้เต่าปลา เคี้ยวสิ้น กินอาศัย 
ยากจะมี ช่องแยก แตกกอไป 
ทิ้งเน่าใน ธารา ไม่น่าชม 

แถมอีกเหล่า เน่าสุด มนุษย์แล้ว 
คือบัวแนว เต่าถุย ใช่คุยสม 
แม้เต่าปลา ยังไม่หา มาชื่นชม 
เสียอารมณ์ ต้องคายทิ้ง ในสิ่งเลว 

-----------------------------------------------------------------------------------
-----------------------------------------------------------------------------------

ความหมายของบัวสี่เหล่าตามนัยอรรถกถา
  1. (อุคคฏิตัญญู) พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
  2. (วิปจิตัญญู) พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
  3. (เนยยะ) พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
  4. (ปทปรมะ) พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน
-----------------------------------------------------------------------------------
-----------------------------------------------------------------------------------


ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม