คเณศชยันตี วันเกิดพระคเณศ


ว่าด้วยความที่ความเชื่อของทางอินเดีย มีมากมายหลายความเชื่อ หลายคัมภีร์ หลายบันทึก หลายตำนาน และหลายนิกาย มีความเชื่อมากมาย ที่ไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่า ถูกหรือ จริงหรือ ใช่หรือ ไม่ บ้างก็ว่า “คเณศชยันตี = วันเกิด” บ้างก็ค้านว่า “คเณศจตุรถี ก็เป็นวันเกิดเช่นกัน” จากส่วนตัวที่ได้เดินทางไปอินเดีย และวัดของพระคเณศบ่อยมาก ขออ้างอิงจาก อัสตะวินายักกา ทั้ง 8 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ และสำคัญขององค์พระคเณศ จากการได้สอบถามพราหมณ์ผู้ดูแลเทวลัยทั้ง 8 แห่ง มี 5 แห่ง บอกว่า วันชยันตี คือวันเกิดของพระคเณศ อีก 3 แห่ง บอกว่า ทั้งคเณศชยันตี และคเณศจตุรถี ต่างก็ถือเป็นวันเกิดของพระคเณศ ดังนั้น เราจึงศึกษา เพื่อเป็นความรู้ ไม่ได้คัดค้านความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง แต่ศึกษาไว้ เพื่อให้ “รู้” ประดับเป็น “ปัญญา”
ขออนุญาตนำบทความจากแหล่งที่มาทั้งสองนี้ 1.Khanesha Gallery 2.ศฺรีเวทชนนีทาส แปล และ เรียบเรียง มาให้ได้อ่าน เพื่อเป็นความรู้กันครับ ขอขอบพระคุณเจ้าของที่มาของบทความทั้งสองด้วยครับ ------------------------------------------------------------------------------------


บทความคเณศชยันตี #1 Credit : Khanesha Gallery
ในคัมภีร์คเณศปุราณะ (गणेश पुराण – Ganesha Purana) อัธยายที่ 48 และในมหาภารตะนั้น ได้กล่าวถึงวันประสูติของพระคเณศไว้ตรงกันว่า คือ “มาฆ ศุทฺธ จตุรฺถี (माघ शुद्ध चतुर्थी – Magha Shuddha Chaturthi )” อันจะหมายถึง “วันศุกลปักษ์ (ข้างขึ้น) สี่ค่ำ เดือนมาฆะ”
โดยเดือนมาฆะนั้นก็จะตกอยู่ราวกลางเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์
ดังนั้นในวันศุกลปักษ์ 4 ค่ำ เดือนมาฆะ ซึ่งถือว่าเป็นวันประสูติของพระคเณศจึงถูกเรียกแบบเจาะจง ว่า คเณศชยันติ (गणेश जयन्ती) หรือวันคล้ายวันประสูติของพระคเณศ (Ganesha's birthday) นั่นเอง
แล้ววัน ๆ นี้ก็ยังมีชื่ออื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ติลกูฏ จตุรฺถี(तिलकूट चतुर्थी – Tilkut Chaturthi) ติลกุํท จตุรฺถี (तिलकुंद चतुर्थी - Tilkund Chaturthi) และ มาฆ ศุกฺล จตุรฺถี (माघ शुक्ल चतुर्थी – Magha Shukal Chaturthi) เป็นต้น
นั่นจึงแสดงให้เห็นว่าถ้าจะพูดถึงวันคล้ายวันประสูติของพระคเณศแล้ว ก็จะต้องพูดว่าคือวันคเณศชยันตี (ชยันตี = วันเกิด)
-------------------------------------
แล้วถ้าจะพูดถึงวันเทศกาลสมโภชพระคเณศแล้ว ก็ต้องพูดว่าคือ วันเทศกาลคเณศจตุรถี ซึ่งจะถูกจะควรกว่า ด้วยวันเทศกาลคเณศจตุรถีนี้เอง ก็จะมีอีกชื่อหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าในเทศกาลนี้นั้นเป็นเทศกาลสมโภชพระคเณศ คือ จะเรียกเทศกาลนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า มหาเทศกาลแห่งพระคเณศ หรือ การเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ของพระคเณศ ที่มีชื่อว่า “คเณศ มโหตฺสว (गणेश महोत्सव – Ganesha Mahotsava)”
โดยถ้าให้แปลแบบแยกคำ ก็จะได้ว่า คเณศ ในที่นี้ก็จะหมายถึงพระคเณศ กับคำว่า “มห (मह) ที่หมายถึง ยิ่งใหญ่ สนธิกับคำว่า “อุตฺสว (उत्सव)” จะหมายถึง เทศกาล, การเฉลิมฉลอง, พิธีกรรม และงานเลี้ยงต้อนรับ เมื่อรวมกันแล้วจึงเปลี่ยนรูปมาเป็น “มโหตฺสว (महोत्सव)” ซึ่งรวมความแห่งชื่อเทศกาล “คเณศ มโหตฺสว” แล้วก็จะหมายถึง เทศกาลการเฉลิมฉลองและเลี้ยงต้อนรับพระคเณศ
ตรงนี้เราก็จะเห็นได้ชัด ในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี ว่า ชาวฮินดูนั้นจะเริ่มทำพิธีด้วยการอัญเชิญพระคเณศลงมาจากสวรรค์เพื่อให้พระองค์มาสถิตยังโลกมนุษย์ (ในรูปของมณฑลพิธี) จากนั้นในเทศกาลนี้ก็จะมีพิธีต้อนรับพระคเณศ และทำการถวายอาหาร (อาหาร ขนมและใบไม้พิเศษในพิธีนี้) อย่างต่อเนื่องหลายวัน จากนั้นเมื่อถึงวันสิ้นสุดพิธีก็จะมีพิธีอัญเชิญพระคเณศกลับสู่สวรรค์ด้วยการนำมูรติ (รูปสักการะ) ของพระองค์ไปทำการลอยน้ำ ที่เรียกวันนี้ว่า “คเณศ วิสรฺชน (गणेश विसर्जन – Ganesh Visarjan)” ซึ่งคำว่า “วิสรรชัน” นี้ก็จะแปลว่าประมาณได้ว่า “ส่งกลับ” Credit : Khanesha Gallery --------------------------------------------------------------------------------


บทความคเณศชยันตี #2 Credit : ศฺรีเวทชนนีทาส แปล และ เรียบเรียง
“คเณศจตุรถี และ คเณศชยันตี ต่างก็เป็นวันประสูติของพระคเณศ”
เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า “คเณศจตุรถี” คือ วันเฉลิมฉลองเนื่องในวันประสูติของพระคเณศ คนอินเดียก็ทราบเรื่องนี้เหมือนกับบ้านเรา คเณศจตุรถี เริ่มต้นเฉลิมฉลองกันตั้งแต่วันขึ้น ๔ ค่ำ - ๑๔ ค่ำ เดือนภาทฺรปทะ ส่วนคเณศชยันตี ก็เป็นวันเฉลิมฉลองเนื่องในวันประสูติของพระคเณศเช่นเดียวกัน คือ เริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๔ ค่ำ - ๑๔ ค่ำ เดือนมาฆะ หลักฐานทางวรรณกรรมเท่าที่แอดสืบค้นได้ คือ วรรณกรรมประเภทปุราณะ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นงานวรรณกรรมที่แพร่หลายในกลุ่มสังคมชาวฮินดูมากที่สุด แอดขอเริ่มจากหลักฐานในปุราณะหลักก่อน คือ ศิวมหาปุราณมฺ ซึ่งเคยนำเสนอเอาไว้บ้างแล้ว ในปุราณะหลักเล่มนี้ได้กล่าวถึงวันประสูติของพระคเณศเอาไว้ด้วย แต่มีความต่างกับวันเฉลิมฉลองเทศกาลคเณศจตุรถี ตรงที่ปักษ์ของการประสูติ ศิวมหาปุราณมฺบอกว่า พระคเณศประสูติในวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ภาทฺรปทะ ดังนี้
शिव उवाच ॥ (ศิว อุวาจ) อันว่าพระศิวะ พระองค์ได้ตรัสแล้วว่า
चतुर्थ्यां त्वं समुत्पन्नो भाद्रे मासि गणेश्वर ॥ असिते च तथा पक्षे चंद्रस्योदयने शुभे ॥ ३५ ॥
จตุรฺถฺยํา ตฺวํ สมุตฺปนฺโน ภาเทฺร มาสิ คเณศฺวร ฯ อสิเต จ ตถา ปเกฺษ จํทฺรสฺโยทยเน ศุเภ ๚ ๓๕ ๚
प्रथमे च तथा यामे गिरिजायास्सुचेतसः ॥ आविर्बभूव ते रूपं यस्मात्ते व्रतमुत्तमम् ।३६॥
ปฺรถเม จ ตถา ยาเม คิริชายาสฺสุเจตสะ ฯ อาวิรฺพภูว เต รูปํ ยสฺมาตฺเต วฺรตมุตฺตมมฺ ๚๓๖๚
तस्मात्तद्दिनमारभ्य तस्यामेव तिथौ मुदा ॥ व्रतं कार्यं विशेषेण सर्वसिद्ध्यै सुशोभनम् ॥ ३७ ॥
ตสฺมาตฺตทฺทินมารภฺย ตสฺยาเมว ติเถา มุทา ฯ วฺรตํ การฺยํ วิเศเษณ สรฺวสิทฺธฺไย สุโศภนมฺ ๚ ๓๗ ๚
“โอ้ คเณศฺวระ เอ๋ย! อันว่าเจ้าคือผู้ที่เกิดแล้วในยามแรก แห่ง ดิถีที่๔ ในเดือนภาทฺรปทะ ในฤกษ์อันมงคลแห่งการอุทัยขึ้นของพระจันทร์ ในกฺฤษณปักษ์ โดยประการนั้น อันว่ารูปของเจ้าคือรูปอันประเสริฐที่สุดแห่งพรตได้ปรากฏแล้วจากสิ่งใด. (อันว่ารูปของเจ้าคือรูปอันประเสริฐที่สุดแห่งพรตได้ปรากฏแล้ว)จากสิ่งนั้นคือจิตอันดีงามของพระคิริชา[พระนามพระปารฺวตี ; นางผู้เกิดแต่ภูเขา,ธิดาแห่งภูเขา]โดยประการนั้น จากวันนั้น ตั้งแต่วันนั้น ในดิถีนั้นนั่นเทียว คือช่วงเวลาอันเป็นที่ปราโมทยินดี อันว่าพรตอันมงคล พึงถูกกระทำแล้วด้วยความวิเศษณ์ เพื่อความสำเร็จทั้งหลาย”
จากคัมภีร์ศิวมหาปุราณะ รุทฺรสํหิตา(สํหิตาที่๒) กุมารขณฺฑะ(ขณฺฑะที่๔) อธฺยายะ ที่๑๘ โศฺลกะที่ ๓๕ – ๓๗
คัมภีร์ปุราณะหลักเล่มอื่นๆเท่าที่พบบอกให้เราทราบถึงความสำคัญของการเฉลิมฉลองและการทำบูชาต่อพระคเณศ ในวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ภาทฺรปทะ ดังตัวอย่างจาก สฺกนฺทมหาปุราณมฺ ดังนี้
अगस्त्य उवाच
อคสฺตฺย อุวาจ ๚
(อันว่าพระอคัสตยมุนิ ได้กล่าวแล้วว่า)
भाद्रे शुक्लचतुर्थ्यां तु तस्य यात्रा शुभावहा । सर्वकामार्थसिद्ध्यर्थं पूज्यो विघ्नेश्वरस्तथा । तस्य स्मरणमात्रेण सर्वविघ्नविनाशनम् ॥ ४० ॥
ภาเทฺร ศุกฺลจตุรฺถฺยํา ตุ ตสฺย ยาตฺรา ศุภาวหา ฯ สรฺวกามารฺถสิทฺธฺยรฺถํ ปูชฺโย วิฆฺเนศฺวรสฺตถา ฯ ตสฺย สฺมรณมาเตฺรณ สรฺววิฆฺนวินาศนมฺ ๚ ๔๐ ๚
“และ อันว่าเทศกาลอันนำพาความมงคลในเดือนภาทฺรปทะ ศุกลปักษ์(ข้างขึ้น) ๔ ค่ำ (แห่งเทวะใด)อันว่าเทศกาลอันนำพาความมงคลแห่งเทวะนั้น[เป็นไป]เพื่อประโยชน์แห่งความสำเร็จและประโยชน์แห่งความปรารถนาทั้งปวง อันว่าพระวิฆเนศฺวระเจ้า คือ ผู้ที่ควรถูกบูชาแล้ว โดยประการนั้น (และ) อันว่าความวินาศแห่งปวงอุปสรรค(ย่อมมีอยู่)เพียงแค่การระลึกถึงแห่งพระวิฆเนศฺวรเจ้าพระองค์นั้น ”
จาก : คัมภีร์สฺกนฺทมหาปุราณมฺ ขณฺฑะที่๒ (ไวษฺณวขณฺฑะ) อโยธฺยามาหาตฺมฺยมฺ อธฺยายะที่๙ โศฺลกะที่ ๔๐
แต่หลักฐานที่แอดคิดว่าสำคัญที่สุด คือ จากคัมภีร์ปุราณะรองของนิกายคาณปัตยะ(นิกายที่บูชาพระคณปติเป็นปรพรัหมัน) คือ คัมภีร์มุทฺคลปุราณมฺ ได้แสดงความสำคัญ ประวัติ รวมไปถึงผลบุณย์แห่งการทำพรตบูชา ของวันขึ้น ๔ ค่ำ และ วันแรม ๔ ค่ำ ในแต่ละเดือนไว้อย่างครบถ้วน ปรากฏข้อมูลของทั้งวันคเณศจตุรถีและวันคเณศชยันตี ก็มาจากคัมภีร์ปุราณะเล่มนี้ โดยกล่าวถึงวันประสูติของพระคเณศ(คเณศจตุรถี) เอาไว้ว่า ตรงกับวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ภาทฺรปทะ ดังนี้
॥ कण्व उवाच ॥
๚ กณฺว อุวาจ ๚
(อันว่าพระกัณวมุนิ ได้กล่าวแล้วว่า)
भाद्रशुक्लचतुर्थ्यास्तु महिमा कथितो मया । चतुर्वर्गफलैर्युक्तो ब्रह्मभूयपदप्रदः ॥७३॥ ภาทฺรศุกฺลจตุรฺถฺยาสฺตุ มหิมา กถิโต มยา ฯ จตุรฺวรฺคผไลรฺยุกฺโต พฺรหฺมภูยปทปฺรทะ ๚๗๓๚
“และ อันว่าความยิ่งใหญ่อันถูกประกอบแล้วด้วยผลแห่งจตุรฺวรรค(สิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนาของมนุษย์ทั้ง ๔ คือ พละ,ธรฺมะ,อรฺถะ,กามะ,โมกฺษะ)ทั้งหลาย อันว่าการประทานมรรคสู่ความเป็นพรัหมัน ของวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือนภาทฺรปทะ ถูกกล่าวแล้ว โดยข้าฯ.”
भाद्रशुक्लचतुर्थ्यां तु माहात्म्यं यः शृणोति चेत् । पठेद्वा तस्य राजेन्द्र सर्वदं प्रभवेद्ध्रुवम् ॥७४॥
ภาทฺรศุกฺลจตุรฺถฺยำ ตุ มาหาตฺมฺยํ ยะ ศฺฤโณติ เจตฺ ฯ ปเฐทฺวา ตสฺย ราเชนฺทฺร สรฺวทํ ปฺรภเวทฺธฺรุวมฺ ๚๗๔๚
“และ หากแม้นว่า ผู้ใดสดับรับฟังอยู่ หรือ พึงเล่าเรียนอยู่ซึ่งความยิ่งใหญ่ในวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือนภาทฺรปทะ . ดูก่อน มหาบพิตร! อันว่าการประทานสิ่งทั้งหมดทั้งปวงอันมั่นคงสถิตเสถียรแก่ผู้นั้นพึงปรากฏอยู่”
भाद्रशुक्लचतुर्थ्यां वै शंकरस्य हृदि प्रभुः । प्रादुर्बभूव मध्याह्ने ध्यानजः स सुतोऽभवत् ॥७५॥
ภาทฺรศุกฺลจตุรฺถฺยำ ไว ศํกรสฺย หฺฤทิ ปฺรภุะ ฯ ปฺราทุรฺพภูว มธฺยาหฺเน ธฺยานชะ ส สุโต’ภวตฺ ๚๗๕๚
“ในเวลาเที่ยงตรงของวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือนภาทฺรปทะ แล อันว่าพระประภุ(ผู้เป็นเจ้า)(พระองค์ใด) ได้อุบัติบังเกิดแล้วในห้องหฤทัยแห่งพระศังกรเจ้า อันว่า(พระประภุ)พระองค์นั้น คือ ผู้ที่ประสูติแต่ธยานะ(สมาธิ)[แห่งพระศังกรเจ้า] ผู้เป็นบุตร[แห่งพระศังกรเจ้า] ได้อุบัติบังเกิดแล้ว”
तदादि सा तिथिर्मुख्या बभूव जन्मधारिणी । गणेशस्य न संदेहो ब्रह्मभूयपदप्रदा ॥७६॥
ตทาทิ สา ติถิรฺมุขฺยา พภูว ชนฺมธาริณี ฯ คเณศสฺย น สํเทโห พฺรหฺมภูยปทปฺรทา ๚๗๖๚
“นับแต่นั้นเป็นต้นมา อันว่าดิถี(ใด)ที่สำคัญที่สุด อันว่าดิถีนั้นที่ทรงไว้ซึ่งการประสูติของพระคเณศะ เป็นดิถีที่ประทานมรรคสู่ความเป็นพรัหมัน มันได้ปรากฏขึ้นแล้ว (และ) หาต้องสนเท่ห์สงสัยไม่ ”
จาก : คัมภีร์มุทฺคลปุราณมฺ ขณฺฑะที่๔ ; คชานนจริตมฺ , อธฺยายะที่ ๗ ; ภาทฺรปทศุกฺลจตุรฺถีวฺรตวรฺณนํ (ว่าด้วยการพรรณนาถึงพรตในวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ภาทฺรปทะ) โศฺลกะที่๗๓ – ๗๖
แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น คัมภีร์มุทฺคลปุราณมฺ ยังบอกถึงวันคเณศชยันตีเอาไว้ด้วย ซึ่งถูกกล่าวโดยฤษิวสิษฺฐ ดังนี้
दशरथ उवाच ।
ทศรถ อุวาจ ฯ
“อันว่าพระทศรถะ ได้ตรัสแล้วว่า”
माघे शुक्लचतुर्थी या तस्या माहात्म्यमुत्तमम् । वद येन जनाः सर्वे भवंति सुखभोगिनः ॥२॥
มาเฆ ศุกฺลจตุรฺถี ยา ตสฺยา มาหาตฺมฺยมุตฺตมมฺ ฯ วท เยน ชนาะ สรฺเว ภวํติ สุขโภคินะ ๚๒๚
“อันว่าวันใดคือวันจตุรถีแห่งศุกลปักษ์(ข้างขึ้น ๔ ค่ำ)ในมาฆมาส(เดือนมาฆะ) ขอท่านจงบอกกล่าวถึงความยิ่งใหญ่อันประเสริฐที่สุดของวันนั้นเถิด ท่ามกลางวัน(ทั้งหลาย) เหตุไฉน (หากแม้นพึงบูชาอยู่ในวันนั้น) อันว่าผู้ที่มีโภคทรัพย์และความสุขทั้งหลาย ชนทั้งหลายย่อมเป็นอยู่ ? ”
वसिष्ठ उवाच । วสิษฺฐ อุวาจ ฯ
“อันว่าฤษิวสิษฺฐะ ได้กล่าวแล้วว่า”
माघी शुक्ला चतुर्थी या तस्यां जातो विनायकः । कश्यपस्य गृहे साक्षादंगारकयुता नृप ॥३॥
มาฆี ศุกฺลา จตุรฺถี ยา ตสฺยำ ชาโต วินายกะ ฯ กศฺยปสฺย คฺฤเห สากฺษาทํคารกยุตา นฺฤป ๚๓๚
“ดูก่อน มหาบพิตร! อันว่าฤกษ์ใดคือที่ฤกษ์ที่อยู่ร่วมกันแล้วกับวันอังคารในเรือน(ราศี)ของพระกัศยปะ(ราศีกรกฏ) จตุรถีดิถี ศุกลปักษ์ มาฆมาส (วันขึ้น ๔ ค่ำ เดือนมาฆะ ) อันว่าพระวินายกะคือผู้ที่ประสูติแล้วในวันนั้น ”
จาก :คัมภีร์มุทฺคลปุราณมฺ ขณฺฑะที่๔ ชื่อ “คชานานจริตมฺ”,อธฺยายะที่๑๒ ชื่อ “มาฆศุกฺลจตุรฺถีมาหาตฺมฺยวรฺณนมฺ” (ว่าด้วยการพรรณนาถึงความยิ่งใหญ่ของวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือนมาฆะ) โศฺลกที่๒ – ๓
ศฺรีเวทชนนีทาส แปล และ เรียบเรียง
----------------------------------------------------------------------------

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม