การจัดเตรียมของ และการประกอบพิธี ในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี ด้วยตนเอง ที่บ้านแบบง่ายๆ


การเตรียมตัวในพิธีคเณศจตุรถี (ฉบับทำเองในบ้านแบบเรียบง่าย)
การจัดเตรียมของ และการประกอบพิธี ในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี ด้วยตนเอง ที่บ้านแบบง่ายๆ
.
บทความต่อไปนี้ จัดทำขึ้นมา สำหรับ ผู้ที่ต้องการทำบูชาองค์พระคเณศด้วยตนเอง ในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี ที่บ้าน ได้หัดริเริ่ม ที่จะกระทำ โดยใช้ขั้นตอน และข้าวของที่มีอยู่ แบบง่ายๆ ทำได้ด้วยตนเอง
.
โดยบทความนี้เขียนโดยไม่อ้างอิง ตำราใดๆ แต่อ้างอิงจาก ชีวิตจริง ในยุคปัจจุบัน ดังนั้น ถ้ายึดติดขนบธรรมเนียมหรือ ตำราต่างๆ ข้ามไปได้เลยไม่ต้องอ่าน ส่วนท่านที่อ่าน ไม่จำเป็นต้องเชื่อ เพียงแค่นำกลับไปคิดวิเคราะห์ เป็นแนวทางเท่านั้น พอ
.
จะเตรียมตัวอย่างไร
วันคเณศจตุรถี ตรงกับ ปรห แรก ของเดือนภัทรบท หรือ วัน ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 10 ไทย (สิงหาคม – ตุลาคม) ซึ่งในปีนี้ “เทศกาลคเณศจตุรถี” เริ่ม วันที่ 10 – 19 กันยายน 64 โดยวันแรกของเทศกาลคือ วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 ชาวฮินดู และผู้เลื่อมใสที่นับถือในองค์พระพิฆเนศจะทำการสัการะพระองค์เป็นพิเศษในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถีนี้ โดยเชื่อกันว่า พระองค์จะเสด็จลงมาสู่ยังโลกมนุษย์เป็นช่วงเวลาที่ เราจะได้อยู่ใกล้ชิดกับพระองค์เป็นพิเศษ เป็นเวลา 11 วัน เพื่อประทานพร แก่ผู้เลื่อมใสที่กระทำบูชาพระองค์ ชาวฮินดูจะทำพิธีในบ้านของตัว หรือ ในเทวลัย โดย จะทำบูชากัน ตั้งแต่ 1-3-5-7-9-11 วัน หรือบางแห่งทำ 21 วัน(แบบโบราณ) ตามแต่สะดวก (ในปัจจุบันมักนิยมทำกัน 3วัน 7 วัน พิธีใหญ่ 11 วัน)
.
.
.
การเตรียมตัวทำบูชาในบ้านตนเองแบบง่ายๆ (ถ้าสามารถทำได้)
.
การเลือกเทวรูปเทวรูปที่จะใช้ประกอบพิธี ปกติ ที่อินเดีย จะสร้างเทวรูปขึ้นจากดิน ปั้นขึ้นมาเป็นองค์เพื่อใช้ในการบูชาในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี นี้(เมื่อเสร็จพิธีจะนำไปลอยน้ำ) แต่หากเราต้องการแค่ทำบูชา ก็นำเทวรูปที่เราบูชาอยู่ทุกวันมาใช้ในการทำบูชา คเณศจตุรถีได้เช่นกัน (เสร็จพิธีเชิญกลับหิ้ง ไม่ต้องลอยน้ำ)เช็ดทำความสะอาดเทวรูปก่อน รวมถึงควรทำความสะอาดหิ้งพระ และเทวรูปต่างๆ ของเราด้วย
.
สิ่งของที่ควรจัดเตรียมไว้
(ใช้ประกอบพิธีข้อ1)ก่อนวันพิธีจะมาถึงจะต้องจัดหาโต๊ะเล็กๆ หรือ อาสนะ อาจจะเป็นผ้าปู ก็ได้นิยมสีแดง/ส้ม เพราะเป็นสีแห่งพลังงาน และเป็นสีที่พระคเณศทรงโปรดด้วย จัดสถานที่บูชาเป็นพิเศษหรือหน้าหิ้งบูชา ปูอาสนะบนโต๊ะเสมือนหนึ่งที่ประทับรับรอง เวลาท่านเสด็จลงมา
(ใช้ประกอบพิธีข้อ1) ข้าวสาร
(ใช้ประกอบพิธีข้อ3-6) น้ำเปล่าใส่ถ้วยพร้อมช้อนสะอาดสำหรับตักถวายเทวรูปในขั้นตอนต่างๆ
(ใช้ประกอบพิธีข้อ6)น้ำปัญจมรัตน์ (นม โยเกิร์ต เนย น้ำผึ้ง น้ำตาลทรายหรือน้ำอ้อย) ผ้าที่ใช้สำหรับเช็ด น้ำสะอาดสำหรับล้างเทวรูป
(ใช้ประกอบพิธีข้อ7) ผ้าสำหรับแต่งเทวรูป ผ้านุ่ง ผ้าคลุม หรือถ้าไม่มี อาจใช้ด้ายฝ้ายสีแดง หรือย้อมสี ฉีกเป็นเส้น พอดีกับเทวรูป สำหรับคล้องแทน ผ้าต่างๆ
(ใช้ประกอบพิธีข้อ8) ผงสำหรับจุ่มเจิม ผงซินดู ผงกุมกุม ผงจันทร์ (ถ้าหาได้ทั้งหมดก็ดี หาไม่ได้ก็เท่าที่หาได้ก็พอ) น้ำหอมสำหรับประพรมเทวรูป
(ใช้ประกอบพิธีข้อ9) เครื่องประดับเช่น สร้อย กำไล สำหรับแต่งเทวรูป ถ้าไม่มีอาจถวายเป็นเหรียญเงินเหรียญทอง หรือ ข้าวสาร(ใช้แทนของมีค่า)
(ใช้ประกอบพิธีข้อ10) ดอกไม้ มาลัย
(ใช้ประกอบพิธีข้อ11) ธูป หรือกำยาน
(ใช้ประกอบพิธีข้อ12) ดวงประทีป หรือเทียน
(ใช้ประกอบพิธีข้อ13) ผลไม้ตามฤดูกาล ขนมหวาน ขนมลาดู โมทกะ
(ใช้ประกอบพิธีข้อ14) หมาก พลู หญ้าแพรก
ของถวายต่างๆควร จัดเตรียมจัดหาไว้ก่อน วันงานพิธี


.
เมื่อถึงวันคเณศจตุรถี ซึ่งปีนี้จะเริ่ม ศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 เริ่มทำบูชา (หากแนะนำ ควรเริ่มทำตั้งแต่ช่วงเช้า แต่หากไม่สะดวก ก็ให้เลือกช่วงที่สะดวก แทนได้) เชิญเทวรูปที่เตรียมไว้ มาประดิษฐาน ยังอาสนะ ที่เตรียมไว้
.
เริ่ม ประกอบพิธี
1.พิธี อาวหนะ กล่าวอัญเชิญ กล่าวมนต์เชิญองค์พระคเณศ
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอเชิญพระองค์ ประทับยังแท่นที่เตรียมไว้ .
2.พิธี อาสนะ อัญเชิญเทวรูปขึ้นประทับยังแท่น หรืออาสนะที่เตรียมไว้
นำข้าวสาร หรือดอกไม้ โปรยที่แท่น หรือ อาจเรียงเป็นรูปสวัสดิกะ แล้วนำเทวรูปวาง
. 3.พิธี ปัธยะ (ถวายน้ำล้างพระบาท)
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำล้างพระบาทต่อพระองค์ นำช้อนตักน้ำ วน ที่บริเวณพระบาทของเทวรูป 3 ครั้ง แล้ว เทลงที่พระบาท หรือเบื้องหน้าเทวรูป
. 4.พิธี อะระฆะยะ (ถวายน้ำล้างพระหัตถ์)
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำล้างพระหัตถ์ต่อพระองค์นำช้อนตักน้ำ วน ที่บริเวณพระหัตถ์ของเทวรูป 3 ครั้ง แล้ว เทลงที่พระหัตถ์ ข้างใดข้างหนึง หรือเบื้องหน้าเทวรูป
. 5.พิธี อาจะมันยะ (ถวายน้ำชำระพระโอษฐ์)
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำชำระพระโอษฐ์ต่อพระองค์ นำช้อนตักน้ำ วน ที่บริเวณพระโอษฐ์ของเทวรูป 3 ครั้ง แล้ว เทลงที่พระโอษฐ์ หรือเบื้องหน้าเทวรูป
. 6.พิธี สะนานิยัม อภิเษกกัม (ถวายน้ำสรงสนาน)
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำสรงสนานต่อพระองค์
ถวายน้ำสะอาด หรือน้ำนม หรือ ถวายน้ำปัญจะมรัตน์สรงเทวรูป
หลังสรงแล้ว ล้างด้วยน้ำสะอาด
เช็ดองค์ทำความสะอาด
เชิญองค์เทวรูปกลับแท่นพิธี
(หากไม่สรง ที่องค์ สามารถนำน้ำสะอาด วน รอบเทวรูป แล้วเทลงเบื้อหน้าได้เช่นกัน)
. 7.พิธี วัตระ (ถวายผ้าทรง)
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายผ้าสำหรับนุ่งห่ม ต่อพระองค์
นำผ้า คลุม หรือผ้านุ่ง ที่เตรียมไว้ ถวายต่อเทวรูป อาจจะนุ่ง หรือคลุม หรือวางไว้เบื้องหน้า
. 8.พิธี กันธะ (การถวายเครื่องหอม แป้งและผงเจิม)
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวาย เครื่องหอม และผงจุ่มเจิมต่อพระองค์
นำผงเจิม เช่น ผงจันทร์ ผงกุมกุม ผงซินดู เจิมที่เทวรูป
นำน้ำหอม ประพรม ที่เทวรูป
. 9.พิธี อาภะระนะ (การถวายเครื่องประดับ)
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวาย เครื่องประดับต่างๆต่อพระองค์
นำเครื่องประดับที่จัดเตรียมไว้ อาทิเช่น สร้อย กำไล สวมคล้องต่อเทวรูป หรือวางไว้เบื้องหน้า
. 10.พิธี ปุษปะมาลา (การถวายดอกไม้ และมาลัย)
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวาย มาลัยดอกไม้นี้แด่พระองค์
นำดอกไม้ มาลัยที่เตรียมไว้ คล้องถวายต่อเทวรูป
. 11.พิธี ธูปะ (การถวายธูปหอม และกำยาน)
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวายธูปหอม และกำยานนี้ต่อพระองค์
นำธูป หรือกำยาน จุด วนถวาย ต่อเทวรุป
. 12.พิธี ดีปัม (การถวายดวงประทีป)
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวายดวงประทีปต่อพระองค์
นำประทีป หรือเทียน จุดถวายต่อเทวรูป
. 13.พิธี ไนเวดยัม (การถวายเครื่องบริโภค ผลไม้ ขนมหวาน)
“โอม ศรี คเณศายะนะมะหะ” ข้าพเจ้าจอน้อมถวาย ผลไม้ตามฤดูกาลนี้ พร้อมขนมหวานต่างๆ ต่อพระองค์
นำผลไม้ต่างๆที่จัดเตรียมไว้ถวายต่อเทวรูป ถ้ามีเยอะมากหลายถาด สามารถนำน้ำตักใส่ช้อนวน ที่ ผลไม้ ขนมหวานต่าง แล้วเทน้ำลงเบื้องหน้าเทวรูป ได้
. 14.พิธี ตัมปูรัม (การถวาย หมาก พลู หญ้าแพรก)
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวาย หมากพลู และหญ้าแพรกต่อพระองค์
นำหมากพลู และหญ้าแพรก ที่เตรียมไว้ ถวายต่อเทวรูป
. 15.พิธี สโตรตรัมปูชา (ถวายบทบูชาสรรเสริญ)
สวดบูชาสรรเสริญ ด้วยบทสวด หรือมนต์ต่างๆ หรือสวด มนต์ 108 จบเป็นต้น
. 16.พิธี อารตี
สวดบูชาพร้อมวนไฟถวายต่อเทวรูป หากสวดไม่ได้ อาจเปิด youtube
https://www.youtube.com/watch?v=gFr5p5AyuD0
.
เราสามารถ ปฏิบัติบูชาเช่นนี้ ได้ตลอดในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี
หรือหากไม่สะดวก อาจจะทำเท่าที่เราทำได้ เท่าที่เราสามารถจัดหาสิ่งของต่างๆได้ ขั้นตอนต่างๆ สามารถลด หรือเพิ่มเติมได้ แล้วแต่ผู้ทำบูชา จะเห็นควร บางท่านอาจทำเต็มทุกๆขั้นตอนทุกวัน บางท่านอาจทำ แค่ วันแรก หรือวันสุดท้าย วันที่เหลือ อาจแค่ สวดมนต์บูชา ถวายผลไม้ ขนมต่างๆ โดยไม่สรงน้ำ ก็แล้วแต่สะดวก (วันอื่นๆอาจตัดขั้นตอน ข้อ 2-9 ออก ทำแค่ 1 และ10-16 เป็นต้น)
.
ในวันสุดท้ายเมื่อทำบูชาเสร็จแล้ว จึง อัญเชิญเทวรูปกลับขึ้นหิ้ง
ถือเป็นการสิ้นสุดการบูชา ในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี (ในตรงนี้คือ เราจะไม่รวมขั้นตอนส่งเสด็จ พิธีวิสาชันนะ ไม่ต้องนำไปลอยน้ำ แค่เชิญท่านกลับขึ้นหิ้งบูชาต่อได้เลย)
.
(หากท่านใด ปั้นเทวรูปจากดิน ก็นำไปลอยน้ำ เพื่อเป็นการส่งเสด็จ ลอยน้ำในที่นี้ ลอยได้ทั้งแม่น้ำ คูน้ำ หนอง คลอง บึง หรือแม้แต่ อ่างใส่น้ำก็ได้เช่นกัน) ในขั้นตอนนี้คือจะเรียกว่า พิธีวิสาชัน ส่งเสด็จท่านกลับสู่ คณปติโลก

.
*** หมายเหตุ เทวรูปที่ไม่ใช่ดินที่ปั้นสำหรับ บูชาในช่วงคเณศจตุรถี ไม่ต้องลอยน้ำนะ ไม่นำเข้าสู่พิธีวิสาชัน เพราะพิธีวิสาชันอธิบายง่ายๆ ให้เข้าใจ คือการส่งเสด็จท่านกลับ ยังคณปติโลก เทวรูป ที่ผ่านพิธีนี้ จะไม่นำกลับไปบูชาอีก เห็นบางท่าน เอาองค์ที่บูชาอยู่ทุกวันๆ ไปส่งเสด็จ ลงอ่างน้ำ แล้วเอากลับไป บูชาต่อ อันนี้ไม่ใช่นะ อย่าหาทำนะ
.
*** หมายเหตุ 2 ทำเท่าที่เราทำได้ ข้อไหนทำไม่ได้ ข้ามไป จุดประสงค์ คือ อยากให้เริ่มลงมือทำด้วยตนเอง ก่อนสักครั้ง ครั้งแรก อาจทำได้ แค่ 20 จาก 100 ก็ทำไปเพราะ ถ้าไม่ทำเลย นั้น คือ เราอยู่ที่ 0 เมื่อทำแล้ว ครั้งต่อๆ ไป อาจไม่ใช่ 20 แล้ว เพราะ เคยทำแล้วรู้แล้วว่า ต้องจัด ต้องหา ต้องเตรียมอะไรเพิ่มเติมจากที่ ขาดไป ก็ค่อยๆ ขยับไป จาก 20 เป็น 50 70 100 รู้เท่าไหร่ ทำได้เท่าไหร่ ทำเท่านั้นก่อน ดีกว่า ไม่เริ่มทำอะไรเลย อย่างน้อยๆ แค่ทำความสะอาดหิ้ง จุดธูปไหว้ ก็ยังดี
.
หวังว่าบทความนี้ จะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย สำหรับ ผู้ที่คิดจะเริ่มปฏิบัติบูชาพระคเณศ ด้วยตนเอง ในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี นี้
.
เรียบเรียงโดย ประสัน
15-08-64









 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม